Share

Thailand

กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย: ทางเลือกในการจัดหาเงินที่ครอบคลุมกว่าเดิมจำเป็นต่อการประคับประคองการฟื้นตัวท่ามกลางความไม่แน่นอนอันใหญ่หลวง

 

วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2565 – กิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียจะยังคงฟื้นตัวต่อไปในปี พ.ศ. 2565 แต่ทว่ายังมีความไม่แน่นอนที่มีนัยสำคัญและความเสี่ยงอยู่  เหล่าผู้วางนโยบายของรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องขยับขยายทางเลือกในการจัดหาเงินให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ต้องเดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดทุนและตราสารทุน เพื่อรับประกันการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ตามการแถลงในรายงานแนวโน้มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศอินเดีย ฉบับพิมพ์ประจำปี พ.ศ. 2565: การจัดหาเงินเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากวิกฤตการณ์โควิด19 (COVID-19) ซึ่งได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้

ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดทางการเงินนับตั้งแต่ช่วงแรกที่รัสเซียบุกเข้ายูเครนเป็นต้นมาอาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย (ASEAN-10, สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศอินเดีย) ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าโดยรวมแล้วผลกระทบจะน้อยกว่าที่ OECD คาดการณ์ไว้

 “แม้เราจะคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) จะยังดำเนินต่อไป เพียงแต่ว่าโมเมนตัมการเติบโตยังคงอยู่ในภาวะที่เปราะบาง  ภาวะเงินเฟ้อ ราคาพลังงานและอาหารที่กำลังทวีตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน รวมทั้งการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานได้สร้างความเสี่ยงให้กับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง” นายมาธิอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการใหญ่แห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Secretary-General) กล่าว “รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจำเป็นต้องนำนโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาคและนโยบายทางโครงสร้างที่มีประสิทธิผลมาประยุกต์ใช้ให้เป็นผลสำเร็จเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของตน เพื่อปรับปรุงความอยู่ดีมีสุขของพลเมืองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป รวมทั้งเพื่อเร่งให้เกิดความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)”

ผลพวงโดยรวมจากสงครามในประเทศยูเครนและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วอาจส่งผลกระทบเพิ่มมากขึ้นต่อไปกับตลาดการเงิน  ความสามารถในการทำกำไรและการให้กู้ของธนาคารลดต่ำลงในหลายประเทศในภูมิภาคตั้งแต่มีการเปิดฉากของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคครั้งใหญ่ดังกล่าว  นอกจากนี้ ความเสื่อมถอยของตลาดแรงงานจะต้องใช้เวลาในการเยียวยา   ในขณะเดียวกัน นโยบายการเงินยังคงเอื้ออำนวยความสะดวกอย่างดียิ่งในเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ในการตอบสนองต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอันเปราะบางของตน  หลายประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องแล้วในการจัดเตรียมให้มีตัวกระตุ้นทางด้านงบประมาณ ทว่ายังน้อยกว่าในช่วงแรกของการเกิดโรคระบาด

เมื่อคำนึงถึงบริบทด้านงบประมาณแผ่นดินและการเงินที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก เหล่าผู้วางนโยบายของรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียควรพิจารณาขอบเขตของทางเลือกที่เปิดกว้างกว่าเดิมในการจัดหางบประมาณให้กับการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อโรคนั้น  การใช้ความริเริ่มแบบพหุภาคี เช่น การให้กู้ร่วมหรือข้อตกลงการแลกเปลี่ยน จะช่วยจัดการกับปริมาณหนี้สาธารณะ นอกจากนี้ เหล่าผู้วางนโยบายของรัฐหรือองค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนทางเลือก เช่น ตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (Green, Social & GovernanceBonds)  ซึ่งในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้เหล่านี้ The Outlook แนะนำให้ใช้โครงร่างที่แข็งแกร่งของการจัดแบ่งประเภทและการรับรองที่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงโครงร่างการมีอำนาจควบคุมบังคับเฉพาะกิจ การเพิ่มอุปทานของพันธบัตรรัฐบาล (Sovereign bonds) และยกระดับสิ่งจูงใจ สำหรับนักลงทุนให้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาด  ตราสารที่เชื่อมโยงกับการประกันภัย (Insurance-linked securities) สามารถเสริมขอบเขตการคุ้มครองทางการเงินที่การประกันภัยครอบคลุมถึงได้ในกรณีของเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงอย่างสุดวิสัย  ความร่วมมือระดับภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ในรูปแบบของการประกันภัยกลุ่มเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคครั้งใหญ่ทั่วโลก (Pandemic-risk pools) สามารถช่วยประคับประคองการฟื้นตัวภายหลังการเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อโรคได้ด้วยเช่นกัน 

ตลาดตราสารในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียจำเป็นต้องใช้โครงร่างทางสถาบันและกฎหมาย การปกป้องคุ้มครองนักลงทุน ความโปร่งใส สภาพคล่องและโครงสร้างพื้นฐานของตลาดที่มั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่า  ความจำเป็นเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีตลาดด้อยพัฒนา  นอกเหนือจากนี้ การยกระดับความรู้พื้นฐานทางด้านการเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียสามารถช่วยสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นในด้านเครื่องมือทางการเงินที่มีความสลับซับซ้อน อันจะเป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้มีการเข้ามามีส่วนร่วมที่มากขึ้นในตลาด  ประการสุดท้าย The Outlook ยังเรียกร้องให้ใช้โครงร่างเพื่อการดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจเชิงมหภาค (Macroprudential framework) ที่มั่นคงแข็งแกร่งจะเปิดทางให้กับการพัฒนาตลาดตราสารด้วยการยกระดับเสถียรภาพในภาคการเงิน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานแนวโน้มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศอินเดีย ฉบับพิมพ์ประจำปี พ.ศ. 2565 โปรดไปที่ https://www.oecd.org/dev/economic-outlook-for-southeast-asia-china-and-india-23101113.htm

นักข่าว สื่อมวลชน สามารถติดต่อขอรับข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เค็นซึเคะ ทานากะ (Kensuke Tanaka) หัวหน้าแผนกทวีปเอเชีย, ศูนย์การพัฒนาแห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Development Centre) (อีเมล: [email protected] หมายเลขโทรศัพท์: +33  6 27 19 05 19) หรือ บุชรา ครีอุต (Bochra Kriout) ที่สำนักงานข่าวของศูนย์การพัฒนาแห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Development Centre’s Press Office) (อีเมล: [email protected] หมายเลขโทรศัพท์: + 33 1 45 24 82 96) และ ยูมิโคะ โยโคคาวา (Yumiko Yokokawa) ที่ศูนย์การพัฒนาแห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประจำกรุงโตเกียว (OECD Tokyo Centre) (อีเมล: [email protected] หมายเลขโทรศัพท์: + 81 3 55 32 00 21)

 

Related Documents